ข่าวสาร
พีอีเอ เอ็นคอม-บีซีพีจี ร่วมจัดตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development
ชูแนวคิดนวัตกรรมแห่งการใช้พลังงานเพื่อความยั่งยืน ตอบโจทย์กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก สนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ร่วมจัดตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development เพื่อพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด ตอบรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้นวัตกรรมช่วยในการบริหารจัดการ ผ่านธุรกิจลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ธุรกิจลงทุนระบบประหยัดพลังงานและบริหารจัดการพลังงาน และธุรกิจอื่นๆ ด้าน Digital Energy
นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทพีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า "บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโซลาร์รูฟท็อป เพื่อเพิ่มทางเลือกในการให้บริการกับลูกค้า
จากการที่ความต้องการใช้พลังงานสะอาดทั้งในระดับโลกและระดับประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ผนวกกับต้นทุนของการผลิตพลังงานทดแทนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสามารถเข้าสู่มือผู้บริโภคได้มากขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของการผลิตไฟฟ้าจากแบบรวมศูนย์ (Centralized) สู่การบริหารจัดการระบบไฟฟ้าจากแหล่งผลิตขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างผู้บริโภค ฯลฯ ทำให้กฟภ. ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันกระแสโลก
โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2561 กฟภ. ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Premium Energy Management) เพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่สำหรับตอบรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ร่วมกับ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและหนึ่งในผู้บุกเบิกการนำนวัตกรรมระดับโลกมาใช้ในธุรกิจพลังงาน
จากการศึกษาภายใต้กรอบข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว หน่วยงานทั้งสองได้เห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดร่วมกัน คณะกรรมการของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development ร่วมกับบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ
- เพื่อส่งเสริมธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน สนับสนุน New Digital Business ผ่าน PEA Hero Platform ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้พัฒนา
- เพื่อส่งเสริมธุรกิจประหยัดพลังงาน และธุรกิจบริหารจัดการพลังงาน (ESCO) ในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน
- เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน Digital Energy แบบครบวงจรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค"
ด้านนายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน บีซีพีจีกำลังเริ่มทำการตลาดกับผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น เน้นการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับผู้บริโภครายย่อย ช่วยเพิ่มทางเลือกในการผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเองและประหยัดค่าใช้จ่าย โดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ ให้ร่วมลงทุนกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จัดตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development ขึ้น จากโอกาสในการทำธุรกิจต่างๆ ที่บริษัทฯ ได้วางแผนธุรกิจเบื้องต้นไว้รองรับ เช่น
- โครงการพัฒนาธุรกิจเป็น Aggregator รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นๆ ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน
- โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ต่อยอดจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) พร้อมระบบบริหารจัดการพลังงานและแลกเปลี่ยนไฟฟ้าในกลุ่มอาคาร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มดำเนินการเพื่อการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าไปแล้ว ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 12 เมกะวัตต์
- โครงการร่วมกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ อาทิ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน) ที่มีความร่วมมือกับบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ในการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานมาใช้ร่วมกับผู้อยู่อาศัยภายในโครงการ เป็นต้น"
นายเขมรัตน์กล่าวต่อว่า "Thai Digital Energy Development เป็นบริษัทที่ผมมีความมั่นใจและภาคภูมิใจ ด้วยรากฐานมั่นคงจากความมีเสถียรภาพของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผนวกกับความคล่องตัวของบีซีพีจี มีการบริหารจัดการโดยผู้บริหารและพนักงานที่มีความสามารถ มีเป้าหมายในการทำธุรกิจที่ชัดเจน ช่วยสร้างโอกาสในการให้บริการผู้บริโภคที่ดีขึ้นของกฟภ. และพีอีเอ เอ็นคอม เริ่มจากการนำเสนอทางเลือกในการใช้พลังงานสะอาด สู่การนำเทคโนโลยีมาใช้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น ไม่เป็นเพียงผู้บริโภคแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป สู่การสร้างสรรค์ smart community ด้วยนวัตกรรมต่างๆ ที่จะทำให้ไฟฟ้าเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้บริโภคยิ่งขึ้น สามารถใช้ application และ smart devices ในการผลิตและจัดการพลังงานสะอาดได้ด้วยตนเอง"
"ด้วยแนวคิด Democratization of Energy บีซีพีจีเชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกใช้และจัดการพลังงาน การร่วมจัดตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development กับพีอีเอ เอ็นคอมของเรา มีพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ พันธมิตรในธุรกิจ Digital Energy จากประเทศออสเตรเลียเป็นผู้ร่วมพัฒนานวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดของเสียในระบบ ส่งเสริม Circular Economy อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์และประหยัดพลังงานเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและประเทศชาติในภาพรวม เป็นนวัตกรรมแห่งการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน" นายบัณฑิตกล่าวเสริม
Thai Digital Energy Development มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 200 ล้านบาท มีแผนการลงทุนเบื้องต้นด้วยการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนแบบ Decentralized Distribution และธุรกิจดิจิทัลสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งสำหรับปี 2562 จะเริ่มจากความร่วมมือโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคากับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์เป็นโครงการแรก