ข่าวสาร
บีซีพีจีนำชมโครงการซื้อขายไฟฟ้าด้วยระบบอินเตอร์เน็ตของพาวเวอร์เล็ดเจอร์ มั่นใจโครงการต้นแบบในเมืองไทย เริ่มซื้อ-ขายไฟแบบ peer to peer เป็นเจ้าแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) จับมือพันธมิตร เดินหน้าตามแผนการปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุค Digital Energy มั่นใจสามารถเริ่มทำการซื้อ-ขายไฟฟ้าแบบ Peer-to Peer โดยการใช้เทคโนโลยี Blockchain ผ่านแพลตฟอร์มของบริษัท พาวเวอร์ เล็ดเจอร์จากออสเตรเลีย ในโครงการ T77 ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบในประเทศไทย เป็นเจ้าแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน การจัดการด้านพลังงานนับเป็นความท้าทายในระดับโลกอย่างหนึ่ง นอกจากการสรรหาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่อย่างพลังงานหมุนเวียนที่กลายมาเป็นวิธีหลักในการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนพลังงานแล้ว การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน นอกจากนี้ จากการที่โลกกำลังปรับเปลี่ยนสู่โลกแห่งการกระจายศูนย์ (Decentralized) มีการกระจายการผลิตมากขึ้น ผนวกกับแนวคิดเรื่อง Sharing Economy ทำให้การใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันกำลังเปลี่ยนโฉมตามไปด้วย จากการผลิตโดยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ห่างไกลจากผู้บริโภคส่งผ่านสายส่งไปตามสถานีไฟฟ้าย่อยแล้วจึงกระจายไปยังผู้ใช้ สู่การที่ผู้บริโภคสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เองและจ่ายเข้าสู่ระบบเพื่อขายให้กับผู้อื่นได้เมื่อมีไฟฟ้าส่วนเกินโดยการใช้อินเตอร์เน็ต ดังนั้น ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจด้วยการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบดั้งเดิมที่มีการนำส่งไฟฟ้าที่ขายได้เข้าสู่ระบบสายส่งของรัฐหรือการไฟฟ้าในระดับท้องถิ่น (Wholesale) บีซีพีจีจึงมุ่งสู่การทำธุรกิจกับผู้บริโภคโดยตรง (Retail) ด้วยการนำโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือ Smart Grid ใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการ ควบคุมการผลิต ส่งและจ่ายพลังงานไฟฟ้า สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป (Distributed Energy Resource : DER) และระบบบริหารการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ล่าสุด บีซีพีจีได้นำคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทยเข้าเยี่ยมชมโครงการ White Gum Valley ที่พัฒนาโดยพาวเวอร์ เล็ดเจอร์และพันธมิตร บริเวณใกล้เมืองฟรีแมนเทิล รัฐเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการแรกๆ ของโลกที่นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในระบบผลิตและซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้ พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย โดยประชากรถึงหนึ่งในสี่ครัวเรือนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคา
โครงการ ไวท์ กัม วัลเลย์ (White Gum Valley) ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยจำนวน 80 ครัวเรือน ประกอบไปด้วยห้องพัก (units) และทาวน์เฮาส์ที่ใช้แผงโซลาร์ 150 กิโลวัตต์ (kW) ในการผลิตไฟฟ้า และแบตเตอรี่ 300 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) กักเก็บไฟฟ้าที่ผลิตได้ ผู้อยู่อาศัยสามารถสร้างสมดุลการใช้พลังงานระหว่างพลังงานที่มาจากสายส่งไฟฟ้าในพื้นที่และที่มาจากเครือข่ายไฟฟ้าของเวสเทิร์น พาวเวอร์ ด้วยระบบไมโครกริดเชื่อมต่อกับเครือข่ายไฟฟ้าของ เวสเทิร์น พาวเวอร์ ซึ่งเป็นการไฟฟ้าระดับท้องถิ่นของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย
นายเดวิด มาร์ติน กรรมการผู้จัดการและหนึ่งในผู้ก่อตั้งพาวเวอร์ เล็ดเจอร์เปิดเผยว่า การนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการบริหารจัดการไฟฟ้า นอกจากจะอำนวยความสะดวกและบันทึกการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์แล้ว ยังทำให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากับบุคคลทั่วไปเป็นไปอย่างปลอดภัย รวมถึงสามารถควบคุมการใช้พลังงานในแต่ละวันได้อีกด้วย
“โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ กับ เวสเทิร์น พาวเวอร์ (Western Power) และมหาวิทยาลัยเคอร์ทิน (Curtin University) โดยการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จะช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่างกัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าให้กับชุมชนนี้ได้ถึงร้อยละ 70 นอกจากนี้ ผู้อยู่อาศัยยังสามารถนำพลังงานไฟฟ้าที่เหลือใช้ ขายกลับไปยังผู้ขายผ่านเครือข่ายไฟฟ้าของเวสเทิร์น พาวเวอร์ได้ เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางในฐานะที่มีการใช้นวัตกรรมด้านพลังงานเป็นส่วนสำคัญใน การพัฒนาโครงการซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถมีไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดใช้หรือผลิตได้เองด้วยต้นทุนที่เหมาะสม (Low Cost, Low Carbon) โดยพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ ทำหน้าที่เป็นผู้ติดตั้งและบริหารแพลตฟอร์ม ในขณะที่เวสเทิร์น พาวเวอร์ เป็นผู้บริหารเครือข่าย อีกทั้งยังได้มีการมอบเงินสนับสนุนให้กับนักศึกษาปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยเคอร์ทิน ศึกษาผลกระทบและประโยชน์ของโครงการเพื่อให้สามารถพัฒนาโครงการไปในทิศทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนต่อไป”
นอกเหนือจากออสเตรเลียแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่มีโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ฯลฯ และเมื่อเร็วๆ นี้ พาวเวอร์ เล็ดเจอร์ ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทผลิตไฟฟ้าใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศญี่ปุ่น Kansai Electric Power Co. (KEPCO) ในการนำ เทคโนโลยี Blockchain มาบริหารจัดการไฟฟ้า โดยในเฟสแรกจะทดลองใช้เทคโนยีดังกล่าวกับชุมชนประมาณ 10 หลังคาเรือน และล่าสุด ได้ร่วมมือกับ Clean Energy Blockchain Network และมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นในสหรัฐอเมริกานำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก ในประเทศสหรัฐอมริกา หลังจากได้เริ่มทำโครงการทดลองในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ประเทศไทย และอินเดีย
สำหรับโครงการต้นแบบของบีซีพีจีในประเทศไทยนั้น นายบัณฑิตได้เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการที่จัดทำร่วมกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ Sansiri Town สุขุมวิท 77 หรือ T77 ว่า ในเฟสแรก มีผู้ร่วมโครงการ 3 หน่วยงานหลักได้แก่ โครงการฮาบิโตะมอลล์ (กำลังการผลิตติดตั้ง 55 กิโลวัตต์) โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ (กำลังการผลิตติดตั้ง 230 กิโลวัตต์) และโครงการคอนโดมิเนียมและอพาร์ทเมนต์ พาร์ค คอร์ท สุขุมวิท 77 [ Park Court Sukhumvit 77 ] โดย บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) (กำลังการผลิตติดตั้ง 180 กิโลวัตต์) ซึ่งขณะนี้ บีซีพีจีได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่ฮาบิโตะมอลล์เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะเริ่มทำการจำหน่ายไฟฟ้าได้ในต้นเดือนมิถุนายนนี้ และจะดำเนินการติดตั้งหลังคาเป้าหมายอื่นๆ ในโครงการ T77 ต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากบีซีพีจีได้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว พาวเวอร์ เล็ดเจอร์จะเข้ามาดำเนินการติดตั้งระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ peer to peer trading และการบริหารจัดการไฟฟ้า นับเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จะมีการซื้อขายไฟฟ้าแบบ peer to peer trading ถือเป็นการพัฒนา Smart Community ที่ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตอย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เองและซื้อขายกันได้ด้วยการใช้นวัตกรรมล้ำสมัยเข้ามาช่วย รวมถึงดูแลจัดการบริหารไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างครบวงจร ด้วยการจัดการการใช้ไฟฟ้าให้ตอบสนองต่อความต้องการการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาของผู้ใช้แต่ละรายให้มากที่สุด เป็นจุดเริ่มในการสร้างโอกาสให้ทุกคน ทุกภาคส่วน ทั่วโลก สามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ ตามแนวคิด “Energy for Everyone” ของบริษัทฯ
“สำหรับผม การเปลี่ยนโฉมของระบบพลังงานไม่ใช่ความท้าทายด้านเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์เรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ผู้บริโภคนั้นได้รับการคิดค้นมาเป็นเวลาสิบปีแล้ว และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ผมมองว่า ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงคือความรู้ความเข้าใจและการยอมรับว่าโครงสร้างทั้งหลายต้องมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา บีซีพีจีได้มีการพูดคุยเจรจาและทำข้อตกลงกับพันธมิตรหลากหลายหน่วยงานในเรื่องนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นแสนสิริ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) บางจากคอร์ปอเรชั่นและบางจากรีเทล และยังอยู่ระหว่างการเจรจาอีกหลายรายเป็นสัญญาณที่ดีว่าเรากำลังร่วมกันปรับเปลี่ยนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม” นายบัณฑิตกล่าวทิ้งท้าย