ข่าวสารบริษัท
11 พฤษภาคม 2561

บีซีพีจีประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2561

บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ของปี 2561  มีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 802 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับ       ไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ขณะที่บริษัทฯ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 13  ล้านบาท คิดเป็นผลกำไรสุทธิประมาณ 351 ล้านบาท

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า รายได้ในไตรมาสที่ 1  ของปีนี้ บริษัทฯ มีการรับรู้ผลการดำเนินงานจากการจำหน่ายไฟของบริษัทฯ และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทย่อย โดยบริษัทฯ มีรายได้จากการขายไฟฟ้าประมาณ 802 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 อย่างไรก็ตาม รายได้จากการจำหน่ายไฟเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 สาเหตุจากสภาวะอากาศในประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นสภาพอากาศมีหิมะตกจำนวนมาก และยาวนานกว่าปกติ ประกอบกับความผันผวนของเงินสกุลบาทเทียบกับเงินสกุลเยน ส่งผลให้การรับรู้รายได้จากการขายไฟของประเทศญี่ปุ่นเติบโตอย่างจำกัด ทั้งนี้หากคิดรายได้จากประเทศญี่ปุ่นในรูปสกุลเงินเยน ไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 บริษัทฯ มีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 13.6 และสูงขึ้นร้อยละ 9.0  จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักจากการรับรู้เต็มไตรมาสของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นากิ (Nagi) ซึ่งได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2560  

สำหรับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ประเทศฟิลิปปินส์และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในประเทศอินโดนีเซีย มีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเป็นจำนวน 69 ล้านบาท ทำให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนรายการพิเศษและอัตราแลกเปลี่ยนคิดเป็นเงินประมาณ 364 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่สูงขึ้นร้อยละ 84.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 บริษัทฯ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสิ้น 13 ล้านบาท ทำให้ผลกำไรสุทธิหลังขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 351 ล้านบาท ซึ่งการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวเกิดจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาทเทียบกับสกุลเงินเยน ณ วันสิ้นไตรมาส เทียบกับ ณ สิ้นปี 2560 ส่งผลให้การแปลงค่าหนี้ที่เป็นเงินตราสกุลเงินเยนเป็นสกุลเงินบาทมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2561 กลุ่มบริษัทมีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 32,452 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เทียบกับสิ้นปี 2560 สำหรับหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 17,032 ล้านบาท  (หากเป็นหนี้สินรวมเท่ากับ 17,748 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.02 เทียบกับสิ้นปี 2560 และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน 1.21 เท่า ณ สิ้นไตรมาส ลดลงเล็กน้อยจาก 1.23 เท่า ณ สิ้นปี 2560

อย่างไรก็ดี สำหรับการดำเนินงานในปี 2561 บริษัทฯ ยังมั่นใจว่าจะเติบโตต่อเนื่องทั้งจากธุรกิจปัจจุบัน (organic growth) เช่น การเติบโตจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น การร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจจากหลายภาคส่วน การร่วมพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานกับโครงการที่บริษัทฯ เข้าร่วมลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเชีย และ การเติบโตจากการเข้าซื้อกิจการหรือร่วมทุน (inorganic growth) รวมถึงจากการลงทุนใหม่ (new investment) โดยการเติบโตจากการเข้าซื้อกิจการ การร่วมทุน หรือการลงทุนใหม่นั้น บริษัทฯ ให้ความสนใจในธุรกิจพลังงานสะอาดหลากหลายรูปแบบที่มีศักยภาพในการเติบโตและสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของบริษัท เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวลหรือชีวภาพ ฯลฯ เป็นต้น

นอกจากนี้ บีซีพีจีกำลังมุ่งสู่การทำธุรกิจกับผู้บริโภคโดยตรง (retail)  ควบคู่ไปกับการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบดั้งเดิมที่มีการนำส่งไฟฟ้าที่ขายได้เข้าสู่ระบบสายส่งของรัฐหรือการไฟฟ้าในระดับท้องถิ่น (wholesale)  โดยเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้นำคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทยศึกษาดูงานการซื้อขายไฟฟ้าแบบ peer-to-peer ที่โครงการ White Gum Valley ที่พัฒนาโดยพาวเวอร์ เล็ดเจอร์และพันธมิตร ที่เมืองฟรีแมนเทิล รัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย     ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการแรกๆ ของโลกที่นำเทคโนโลยี blockchain มาใช้ในระบบผลิตและซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์  พร้อมเปิดเผยถึงโครงการ T77 โครงการต้นแบบของบีซีพีจีในประเทศไทย      ที่จัดทำร่วมกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ว่าจะเริ่มซื้อขายไฟฟ้าได้ในเร็วๆ นี้

ล่าสุด บีซีพีจี ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะรางวัล Capital Finance International Awards “2018 Best Clean Energy Community Solutions – South East Asia” จัดโดยนิตยสาร Capital Finance สหราชอาณาจักร จากการที่บริษัทฯ เป็นผู้นำในการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้ผู้บริโภคมีไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดใช้ได้เอง ในราคาที่ถูกลง และสามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าระหว่างกันและกันได้